หน้าหลัก
ITA
LPA
ประกาศจากระบบ e-GP
ประกาศจากระบบ e-GP ในเครือข่าย

facebook
ทต.ธารเกษม

facebook
ทต.ธารเกษม
ทต.ธารเกษม
เทศบาลตำบล ธารเกษม ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ
ข้อมูลหน่วยงาน
ข้อมูลหน่วยงาน
บุคลากร
บุคลากร
การบริหารบุคคล
การบริหารบุคคล
ข่าวสาร
ข่าวสาร
แผน
แผน
รายงาน
รายงาน
ระเบียบ
ระเบียบ
บริการประชาชน
บริการประชาชน
เทศบาลตำบลธารเกษม
อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
 
ข่าวสาร
 
 

มูลเหตุการฟ้องขับไล่ ที่สำคัญๆ
 
มูลเหตุการฟ้องขับไล่ ที่สำคัญๆ  
 

วันนี้งานนิติการขอประชาสัมพันธ์บทความเกี่ยวกับคดีฟ้องขับไล่
อ้างอิง  :  คดีฟ้องขับไล่ ,สุพิศ   ปราณีติพลกรัง , 10 ธันวาคม 2534 , บริษัท กรุงสยาม  พริ้นติ้ง  กรุ๊พ จำกัด

มูลเหตุหรือที่มาของการฟ้องขับไล่ ที่สำคัญๆ

คดีฟ้องขับไล่นั้นอาศัยเหตุตามกฎหมายได้ดังนี้.
1.  อาศัย      
2.  ละเมิด
3.  สิทธิอาศัย
4.  สิทธิเหนือพื้นดิน
5.  สิทธิเก็บกิน
6.  เช่า
7.  กรณีอื่น ๆ

1.  อาศัย
     การอาศัยถือเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ   บุคคลสิทธินี้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้อาศัย   ถ้าผู้ให้อาศัยไม่ประสงค์จะให้ผู้อาศัย  อาศัยอยู่เมื่อใด   ผู้ให้อาศัยก็มีสิทธิจะขับไล่ผู้อาศัยออกไปได้ทันที  และผู้อาศัยก็มีหน้าที่จะต้องออกไปด้วย
     การอาศัยอยู่ในบ้าน  อาศัยทำประโยชน์ในที่ดิน  ในกรณีปกติทั่ว ๆ ไปเป็นเรื่องการตกลงยินยอมของเจ้าของทรัพย์ที่พอใจจะให้อาศัย อาจจะมีกำหนดเวลาหรือไม่มีกำหนดเวลาก็ได้ เป็นเหตุหรือมูลฐานหนึ่งของการฟ้องคดีขับไล่ ในช่วงระยะเวลาการยอมให้อยู่อาศัย การทำประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าวก็ไม่เป็นละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ แต่ถ้าหากพ้นกำหนดระยะเวลาที่ยินยอมหรือเปลี่ยนใจไม่ประสงค์จะให้อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากทรัพย์อีกต่อไป การอยู่ต่อไปก็กลายเป็นละเมิด ซึ่งอาจจะมีการเรียกค่าเสียหายด้วย

2.  ละเมิด
     ละเมิดนั้นน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นมูลฐานให้เกิดคดีฟ้องขับไล่มากกว่ามูลฐานอื่น เพราะการกระทำละเมิดอันจะเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องขับไล่นั้น อาจจะเริ่มต้นโดยการเป็นการกระทำละเมิด เช่น เข้าไปบุกรุก ครอบครอง ยึดถือเอาที่ดินของผู้อื่น หรืออาจจะเป็นผลมาจากกรณีอื่น เช่น การเข้าอยู่อาศัย เมื่อเจ้าของไม่ให้อยู่อาศัยต่อไป การอยู่อาศัยต่อมาก็เป็นละเมิด หรือกรณีเช่าแล้วต่อมาหมดสัญญาเช่าเจ้าของให้ออกไป แต่ไม่ออกก็เป็นการอยู่โดยละเมิด ต้องมีการฟ้องขับไล่หรือในกรณีเป็นการกระทำตามมาตรา 1337 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3.   สิทธิอาศัย
     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1402  บัญญัติว่า   บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือนบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
     จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  ผู้ทรงสิทธิอาศัยตามกฎหมายนั้นมีสิทธิที่จะได้เข้าอยู่อาศัยในโรงเรือนของผู้อื่น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการอาศัยตามความหมายทั่ว ๆ ไปแล้ว   จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง   การอาศัยตามความหมายทั่ว ๆ ไปนั้น  หมายความรวมถึงการอาศัยอยู่ในที่ดินด้วย    ซึ่งอาจจะเข้าลักษณะสิทธิเก็บกิน  ผู้ทรงสิทธิอาศัยนั้นมีเพียงสิทธิอยู่อาศัยในโรงเรือน  ไม่มีสิทธิในโรงเรือนและที่ดินที่ปลูกสร้างโรงเรือนแต่อย่างใด   แต่ผู้ทรงสิทธิอาศัยก็มีสิทธิจะเก็บเอาดอกผลธรรมดา   หรือผลแห่งที่ดินมาใช้เพียงเท่าที่จำเป็นแก่ความต้องการของครัวเรือนก็ได้  ถ้าผู้ให้อาศัยมิได้ห้ามไว้โดยชัดแจ้ง(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1406 )  สิทธิอาศัยนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัว   โอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก ( ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1404 ) และในกรณีที่สิทธิอาศัยนั้นไม่มีกำหนดเวลา  สิทธิอาศัยนั้นจะเลิกเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้   แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ผู้อาศัยตามสมควร (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1403  วรรคสอง )

4.  สิทธิเหนือพื้นดิน
     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา   1410  วางบทบัญญัติไว้ว่า “เจ้าของที่ดินอาจก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น
โดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน  สิ่งปลูกสร้าง   หรือสิ่งเพาะปลูกบนดินใต้ดินนั้น”
     จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า   สิทธิเหนือพื้นดินนั้นเป็นกรณีที่ผู้ทรวงสิทธิมีกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของโรงเรือน  สิ่งปลูกสร้าง  หรือสิ่งเพาะปลูกในที่ดิน  แต่ไม่มีสิทธิในที่ดินที่ใช้สิทธิเหนือดังกล่าว   โรงเรือน  สิ่งปลูกสร้าง  หรือสิ่งเพาะปลูกนั้นไม่ตกเป็นส่วนควบกับที่ดินแต่อย่างใด
     สำหรับการได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินนั้น   อาจได้มาโดยทางนิติกรรมหรือโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมก็ได้  สิ่งที่ต้องสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีที่เกี่ยวกับคดีฟ้องขับไล่โดยอาศัยมูลฐานในเรื่องสิทธิเหนือพื้นดินก็คือ   การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อบอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินในกรณีไม่มีกำหนดเวลา  ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1413  ดังนี้
     “ถ้าสิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่มีกำหนดเวลาไซร้  ท่านว่าคู่กรณีฝ่ายใดจะบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้  แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร   ถ้ามีค่าเช่าซึ่งจำต้องให้แก่กันไซร้  ท่านว่าต้องบอกล่วงหน้าปีหนึ่ง   หรือให้ค่าเช่าปีหนึ่ง”

5.  สิทธิเก็บกิน
     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา   1417  วรรคแรก  บัญญัติว่า
“อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกิน อันเป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธินั้นมีสิทธินั้นมีสิทธิครองครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น”
     เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า  สิทธิเก็บกินนั้นเป็นสิทธิที่ทำให้สามารถครอบครอง ใช้ ถือเอาประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิเก็บกิน จะก่อให้เกิดขึ้นได้แต่เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น สิทธิเก็บกินเป็นสิทธิเฉพาะตัว ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย สิทธินั้นย่อมสิ้นไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1418)

6.  เช่า
     การเช่านั้นก็เป็นมูลฐานอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดคดีฟ้องขับไล่จำนวนมากเหมือนกับกรณีของการขับไล่อันเกิดจากละเมิด ข้อสังเกตของการเช่าในส่วนที่เกี่ยวกับคดีฟ้องขับไล่น่าจะกล่าวได้พอสังเขป  ดังนี้
      1.  ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า แต่ต้องมีอำนาจเอาทรัพย์สิน ออกให้เช่า
      2.  กรณีผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า แต่ได้ฟ้องคดีโดยตั้งรูปเรื่องอ้างความเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า (มิได้อ้างว่าเป็นผู้มีอำนาจให้เช่าได้) ผู้เช่าย่อมต่อสู้ได้ว่า ทรัพย์พิพาทไม่ใช่ของผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าไม่มีอำนาจฟ้องตามสัญญาเช่า
      3.  สัญญาเช่าทรัพย์ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ  ดังนั้น  สิทธิของผู้เช่าในการฟ้องบุคคลภายนอกที่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทอยู่ จะแยกพิจารณาได้ 2 กรณี ดังนี้
          ก.  กรณีทำสัญญาเช่าแล้ว  แต่ยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้เช่า หากมีบุคคลอื่นครอบครองทรัพย์สินอยู่ ผู้เช่าจะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าฟ้องบังคับขับไล่ออกไปไม่ได้ เพราะฐานะของผู้เช่ามีเพียงบุคคลสิทธิไม่อาจใช้ยันหรือบังคับต่อบุคคลภายนอกได้ ผู้มีสิทธิฟ้องในกรณีก็คือ ผู้ให้เช่า ผู้เช่าจะทำได้ก็เพียงการเรียกร้องจากผู้ให้เช่าฐานผิดสัญญาเช่าหรือรอนสิทธิ
          ข.  ในกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าและมีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครอบครองแล้ว หากมีใครมารบกวนขัดขวางการครอบครองใช้ประโยชน์ กรณีนี้ผู้เช่าก็มีสิทธิฟ้องร้องได้ด้วยตนเอง
      4.  สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ผู้เช่าตายสัญญาเช่าก็ระงับ
      5.  สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ
     กรณีเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษนั้น จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากการเช่าแบบธรรมดา จึงต้องทำความเข้าใจให้ดี เหตุที่จะทำให้เป็นการเช่าแบบต่างตอบแทนพิเศษนั้นมีได้หลายกรณี เช่น การปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้าง หรือพืชผลลงในที่ดินของผู้อื่นเพื่อการหาประโยชน์เป็นเวลานาน การก่อสร้างต่อเติมทรัพย์ที่จะเช่าเพื่อเป็นการต่างตอบแทนกับการที่จะได้เช่าระยะยาว การออกเงินช่วยค่าก่อสร้าง เป็นต้น สัญญาเช่าแบบนี้เป็นสัญญาไม่มีแบบ ผู้เช่าตายสัญญาไม่ระงับ สามารถตกทอดไปยังทายาทได้
6.  กรณีเช่าช่วง
     กรณีเช่าช่วงนั้น หากเป็นการเช่าช่วงโดยชอบ คือผู้ให้เช่าเดิมยินยอมด้วย หรือสัญญาเช่าเดิมยอมให้ทำได้ ผลก็คือจะทำให้ผู้เช่าช่วงไม่มีฐานะเป็นบริวารของผู้เช่าเดิม ผิดกับกรณีเช่าช่วงโดยมิชอบ ผู้เช่าช่วงมีฐานะเป็นเพียงบริวารของผู้เช่าเดิมเมื่อฟ้องขับไล่ผู้เช่าก็ขับไล่ผู้เช่าช่วงในฐานะบริวารได้ด้วย
     เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญา
     การบอกเลิกสัญญานั้นมีผลต่อการฟ้องคดี โดยเฉพาะในกรณีที่ว่ามีการบอกกล่าวเลิกสัญญากันโดยถูกต้องหรือไม่ เมื่อจะมีการบอกกล่าวเลิกสัญญาก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 566  กล่าวคือ บอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่า แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

7. กรณีอื่น ๆ
     นอกจากมูลฐานที่ก่อให้เกิดคดีฟ้องขับไล่ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกหลายประการที่เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องขับไล่ได้  เช่น กรณีการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1360

อ้างอิง  :  คดีฟ้องขับไล่ ,สุพิศ   ปราณีติพลกรัง , 10 ธันวาคม 2534 , บริษัท กรุงสยาม  พริ้นติ้ง  กรุ๊พ จำกัด

มีปัญหาข้อกฎหมาย  ติดต่อนิติกร  เทศบาล
โทร.091-8157416

 

ข่าว ณ. วันที่ 7 ก.ย. 2565 เวลา 13.11 น. โดย คุณ สมฤทัย ชัยยะคำ

ผู้เข้าชม 3618 ท่าน

 
 
 
 
 
 
 
 
รับเรื่องร้องเรียน
โทร : 065-193-9441